หมวดพระพุทธรูปต่าง ๆ สมัยสุโขทัย
พระพุทธรูปสุโขทัยอาจแบ่งได้ เป็น 4 หมวดด้วยกันคือ
หมวดใหญ่ หมวดกำแพงเพชร หมวดพระพุทธชินราช หมวดเบ็ดเตล็ด
พระพุทธรูปทั้งสี่หมวด
แบ่งออกเป็น 3 รุ่น ด้วยกัน คือ รุ่นแรก
มีวงพระพักตร์กลมแบบลังกา รุ่นที่สอง มีวงพระพักตร์ยาว และพระหนุเสี้ยม
รุ่นที่สาม น่าจะสร้างในรัชสมัยพระมหาธรรมราชา หรือ พระเจ้าลิไท
พระองค์ทรงหาหลักฐานต่าง ๆ จากพระไตรปิฎก มาประกอบการสร้างพระพุทธรูป
จึงได้เกิดพระพุทธรูปแบบสุโขทัยขึ้นอีกแบบหนึ่ง ได้แก่ พระพุทธชินราช
พระพุทธชินสีห์ วงพระพักตร์ รูปไข่คล้ายแบบอินเดีย ปลายนิ้วพระหัตถ์เสมอกันทั้ง 4
นิ้ว
การแบ่งเช่นนี้สอดคล้องกับ
Griswold ซึ่งได้แบ่งพระพุทธรูปทั้ง 4 หมวดออกเป็น
3 ยุค คือ ยุคก่อนยุคทอง
เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา
ยุคทอง คือพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 – 22 และหลังยุคทอง (พรพรรณ จันทโรมานนท์, 2547 : 147)
พระพุทธรูปแบบสุโขทัยมีอิทธิพลของศิลปะแบบลังกาเข้ามาปะปนอยู่มาก
และจัดอยู่ในหมวดวัดตะกวนนั้นอาจเป็นพระพุทธรูปแบบสุโขทัยรุ่นแรกด้วย
เมื่อกล่าวถึงพระพุทธรูปสุโขทัยที่มีอิทธิพลลังกาปน
จะเห็นได้ชัดในพระพุทธสิหิงค์ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติพระนคร
พระพุทธสิหิงค์นั้นตามตำนานกล่าวว่าได้มาจากเกาะลังกาในรัชกาลพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
หรือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19 แต่ลักษณะฝีมือช่างที่เห็นปรากฏอยู่เป็นศิลปะไทยปนลังกาจึงเป็นที่น่าสงสัยว่าโดยเหตุที่เคยไปประดิษฐานในเมืองต่าง
ๆ หลายเมือง คือเมืองนครศรีธรรมราช สุโขทัย อยุธยา กำแพงเพชร เชียงราย
และเชียงใหม่
จึงอาจถูกขัดแต่งจนกลายเป็นพระพุทธรูปแบบฝีมือไทยหรือองค์เดิมสูญหายไปเสีย
จึงหล่อขึ้นแทนใหม่ในสมัยสุโขทัยนี้ก็เป็นได้
หรืออาจจะแต่งตำนานขึ้นเพื่อประกอบพระพุทธรูปให้ศักดิ์สิทธิ์โดยกล่าวว่ามาจากเกาะลังกาได้เช่นเดียวกัน
(สุภัทรดิศ ดิศกุล, 2546 : 27)
หมวดใหญ่
พระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่มีอยู่ทั่วไปเป็นลักษณะศิลปะสุโขทัยโดยเฉพาะ
มีลักษณะคือ พระรัศมีเป็นเปลว ขมวดพระเกศาเล็ก พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง
พระนาสิกงุ้ม (ตามแบบลักษณะมหาบุรุษจากอินเดีย พระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย
พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มเฉียง ชาวจีวรยาวลงมาถึงพระนาภี
ปลายเป็นเขี้ยวตะขาบ ชอบทำปางมาวิชัย ประทับ ขัดสมาธิราบ ฐานเป็นหน้ากระดานเกลี้ยง
หมวดกำแพงเพชร
มีลักษณะโดยทั่วไปเหมือนในหมวดใหญ่
แต่มีลักษณะของวงพระพักตร์ตอนบนจะกว้างกว่าตอนล่างมากอย่างสังเกตเห็นได้ชัด
พบที่จังหวัดกำแพงเพชร
หมวดพุทธชินราช
พระพักตร์ค่อนข้างกลม
พระองค์ค่อนข้างอวบอ้วน นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่มีปลายเสมอกัน มีลักษณะของมหาบุรุษ 32
ประการอยู่มาก
หมวดนี้เชื่อกันว่าคงเริ่มสร้างครั้งแผ่นดินพระเจ้าลิไท ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20
หรือหลังกว่านั้น
หมวดเบ็ดเตล็ด
หมวดเบ็ดเตล็ดหรือหมวดวัดตะกวน
หมวดนี้เป็นหมวดพระพุทธรูปแบบสุโขทัยที่มีศิลปะแบบเชียงแสนและลังกาเข้ามาปะปนอยู่มาก
บางองค์มีลักษณะชายสังฆาฏิหรือจีวรสั้น พระนลาฏแคบ
แต่พระองค์และฐานมักเป็นแบบสุโขทัย ที่เรียกว่าแบบวัดตะกวนนั้น
เพราะได้พบพระพุทธรูปแบบสุโขทัยและแบบแปลก ๆ
เหล่านี้ที่วัดตะกวนในเมืองสุโขทัยเป็นครั้งแรก
พระพุทธรูปแบบนี้บางองค์อาจเป็นพระพุทธรูปรุ่นแรกของศิลปะแบบสุโขทัยก็เป็นได้
ทั้งนี้ถ้าเราเชื่อว่าศิลปะเชียงแสงรุ่นแรกเกิดขึ้นก่อนศิลปะสุโขทัย
บรรดาพระพุทธรูปปูนปั้นที่ค้นพบ ณ เจดีย์ทางทิศตะวันออกและในพระปรางค์วัดพระพายหลวงเป็นวัดเก่าในสมัยสุโขทัยก็ดูจะเป็นลักษณะแบบนี้ทั้งสิ้น
อาณาจักรสุโขทัยสร้างขึ้นมาจากเส้นทางการค้าที่สำคัญ
ทำให้ได้รับศิลปวัฒนธรรมจากหลายที่
ช่างสุโขทัยประติดประต่อเลือกรับปรับปรุงแล้วพัฒนาจนได้งานศิลปะที่มีความเฉพาะตัว
อ่อนช้อย งดงาม สะท้อนสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในอาณาจักรได้อย่างดี
จนปราชญ์หลายท่านกล่าวตรงกันว่า
ศิลปะสุโขทัยคือศิลปะที่สวยงามที่สุดยุคหนึ่งของชนชาติไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น