06 สิงหาคม 2557

ประวัติพระพุทธรูปในสมัยสุโขทัย

ประวัติพระพุทธรูปในสมัยสุโขทัย
ประวัติความเป็นมา
            สุโขทัยเป็นรัฐโบราณที่อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำยม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณตอนกลางพุทธศตวรรษที่ 18 โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดพระพายหลวง เป็นรัฐที่มีความสัมพันธ์กับขอมและละโว้ หรือลพบุรีในปัจจุบัน หลักฐานที่เป็นประจักษ์พยานคือ วัดพระพายหลวง วัดศรีสวาย ซึ่งเป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธ นิกายมหายาน และศาลตาผาแดง ซึ่งเป็นเทวสถาน ต่อมาในสมัยพ่อขุนรามคำแหงได้มีการย้ายเมืองมาตั้งอยู่บริเวณที่เป็นเมืองโบราณสุโขทัยที่รู้จักกันในปัจจุบัน  โดยมีศูนย์กลางคือวัดมหาธาตุ เมืองแห่งใหม่นี้ได้สร้างขึ้นทางทิศใต้ของเมืองเก่า มีกำแพงเมืองด้านทิศเหนือติดกับคูเมืองด้านทิศใต้ของเมืองสุโขทัยเดิม
  ที่มา  http://www.andaman-amulet.com
จากหลักฐานด้านจารึกให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ว่าเมืองสำคัญในแคว้นสุโขทัยมีทั้งหมด 5 เมืองคือ เมืองศรีสัชนาลัย เมืองสรลวงสองแควหรือพิษณุโลก เมืองสุโขทัย และเมืองชากังราวหรือเมืองพิชัย ซึ่งเจ้าเมืองเหล่านี้ต่างก็เป็นญาติพี่น้องกัน โดยมีเมืองสุโขทัยเป็นเมืองของผู้นำที่จะเข้ามาปกครองดินแดนเหล่านี้ ดังนั้นผู้ที่จะขึ้นมาปกครองแคว้นสุโขทัยจึงต้องเป็นผู้มีบุคลิกภาพสูงทั้งในทางโลกและในทางธรรม ไม่เช่นนั้นเมืองต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะตั้งตนเป็นอิสระ ดังเช่นหลังสิ้นรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหง เมืองเหล่านี้ก็ตั้งตนเป็นอิสระ แคว้นสุโขทัยจึงสลายไปครั้งหนึ่ง ก่อนที่พระมหาธรรมราชาลิไทจะรวบรวมขึ้นใหม่อีกครั้ง
ในทางประวัติศาสตร์สุโขทัยมีความหมายอยู่ 3 ประการคือ ความหมายในฐานะที่เป็นแคว้นโบราณ ความหมายในเชิงศิลปะ และความหมายที่เป็นชื่อเมืองสุโขทัย ซึ่งความหมายในฐานะที่เป็นแคว้นโบราณนั้น สุโขทัยหมายถึง ดินแดนที่ประกอบด้วยเมืองต่างๆโดยมีสุโขทัยเป็นศูนย์กลาง เมื่อเทียบกับปัจจุบันดินแดนเหล่านี้อยู่ในเขตพื้นที่การปกครองของจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร พิษณุโลก บางส่วนของจังหวัดเพชรบูรณ์ ตาก และอุตรดิตถ์ โดยการรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นขึ้นอยู่กับผู้นำที่เข้มแข็ง ซึ่งการรวบรวมบ้านเมืองในประวัติศาสตร์สุโขทัยนั้นมีทั้งหมด 2 สมัยคือ สมัยพ่อขุนรามคำแหง และสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท
          ศิลปะสุโขทัยเริ่มตั้งแต่เมื่อแคว้นสุโขทัยรับพระพุทธศาสนาเถรวาทจากลังกา ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงเมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 ศิลปะสุโขทัยจัดได้ว่าเป็นศิลปะไทยที่งดงามที่สุด และมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง โดยเฉพาะพระพุทธรูปสุโขทัยซึ่งมีลักษณะเด่นคือ พระรัศมีเป็นเปลวเพลิง ขมวดพระเกศาเป็นก้นหอย พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรยาวลงมาจรดพระนาภี ปลายจีวรเป็นลายเขี้ยวตะขาบ นอกจากนี้ในสมัยสุโขทัยยังนิยมทำพระพุทธรูปตามอิริยาบถทั้งสี่คือ ยืน เดิน นั่ง และนอน ศิลปะสุโขทัยไม่เพียงแต่ทำกันในแคว้นสุโขทัยเท่านั้นแต่ได้ส่งอิทธิพลให้แก่ศิลปะอยุธยา แม้ว่าจะถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาแล้วก็ตาม
 สุโขทัยนอกจากจะมีพระพุทธรูปที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเองแล้ว ยังมีสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเองอีกด้วยคือ เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ซึ่งเป็นเจดีย์ที่พัฒนารูปแบบมาจากปรางค์ ลักษณะทำเป็นฐานสี่เหลี่ยมสามชั้น ยอดเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงดอกบัวตูม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์พบโดยทั่วไปในเมืองสำคัญสมัยสุโขทัย เช่นที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ นอกจากนี้ยังพบที่วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งขึ้นไปพร้อมกับพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่พระมหาธรรมราชาลิไทส่งพระสุมนเถระขึ้นไปเผยแพร่
ที่มา http://www.andaman-amulet.com
          ศิลปะสุโขทัยได้ส่งอิทธิพลให้แก่ศิลปะอยุธยาอย่างมาก แม้แคว้นสุโขทัยจะถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา โดยมีฐานะเป็นกลุ่มเมืองเหนือของกรุงศรีอยุธยา อิทธิพลศิลปะสุโขทัยได้ปรากฏอย่างมากในศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ลักษณะโดยทั่วไปของพระพุทธรูปในศิลปะนี้คือ มีไรพระศก ฐานเป็นหน้ากระดานแอ่นเป็นร่องเข้าข้างใน ตามแบบศิลปะที่ทำสืบกันมาของอยุธยาเอง และพระพักตร์รูปไข่ พระวรกายเพรียวบาง ซึ่งเป็นลักษณะของอิทธิพลศิลปะสุโขทัย โดยพบพระพุทธรูปรุ่นนี้จำนวนมากในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ 

05 สิงหาคม 2557

สถานที่ประดิษฐาน

                             พระพุทธรูปสำคัญในสมัยสุโขทัยที่ประดิษฐาน ณ ที่ต่าง ๆ ดังนี้ 
  พระพุทธรูปประทับยืน  แสดงปางลีลา  เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด   สมัยสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปภายในพระระเบียงคด  วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้อัญเชิญมาจากวัดราชธานี จังหวัดสุโขทัย มีขนาดความสูง 203 เซนติเมตร กล่าวกันว่าเป็นพระพุทธรูปปางลีลา สำริดที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย
            พระศาสดา  พระประธานในพระอุโบสถ  วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดประทับนั่งแสดงปางมารวิชัย  สูงตลอดจนถึงพระรัศมี  8 ศอก  1  คืบ  8  นิ้ว  หน้าตักกว้าง  6  ศอก 1 คืบ  
สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือเดียวกับช่างที่หล่อพระศรีศากยมุนี  อาจจะอัญเชิญมาจากวัดมหาธาตุสุโขทัย  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่1 พร้อมกับพระศรีศากยมุนี ชาวบ้านเรียกกันว่า  “พระศาสดา”
            พระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ  วัดหงส์รัตนาราม  เขตบางกอกใหญ่  กรุงเทพมหานคร   มีจารึกว่าหล่อขึ้นใน  พ.ศ.  2963  หรือ  1966  เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งแสดงปางสมาธิ มีขนาดหน้าตักกว้าง  2.50  เมตร สูง 3.50 เมตร ประทับอยู่บนฐานบัวหลายชั้น พุทธลักษณะคือ  พระนลาฏค่อนข้างกว้างแนวเม็ด
พระศกที่จรดกันเป็นมุมแหลมกลางนลาฏ  ยังเป็นแบบหมวดใหญ่เปลือกพระเนตรโปน โอษฐ์มีขนาดเล็กพระอังสากว้าง บั้นพระองค์เล็ก  ชายจีวรเป็นแถบเล็กยาวจรดอุทร และแยกปลายเป็นรูปเขี้ยวตะขาบ รัชกาลที่ 1 โปรดฯ ให้อัญเชิญมาจากสุโขทัย
  พระศรีศากยมุนี หรือที่ชาวกรุงเทพฯ ทั่วไปเรียกว่าหลวงพ่อโตวัดสุทัศน์เป็นพระประธาน ณ พระวิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม หล่อด้วยโลหะสำริดปิดทอง มีขนาดใหญ่มากองค์หนึ่งของประเทศ มีขนาดหน้าตักกว้าง  6.25 เมตร (หน้าตักกว้าง 3 วา 1 คืบ มีความสูง 4 วา)
พุทธลักษณะพระศรีศากยมุนี เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวาอยู่ในท่าปางมารวิชัย พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลาครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวลงมาถึงระดับพระนาภีมีปลายเป็นสองแฉกเขี้ยวตะขาบ ลักษณะพระองค์ค่อนข้างสั้นบั้นพระองค์เล็ก พระอังสาใหญ่ หัวพระถันโปน ลักษณะพระพักตร์และพระเศียรที่ปรากฏ คือ พระรัศมีเป็นเวลาสูงตั้งอยู่บนพระอุษณีษะรูปมะนาวตัดเส้นพระศกขมวดเล็กแบบก้นหอย พระพักตร์นั้นเป็นรูปไข่เกือบกลม พระขนงโก่งแยกออกจากกันระหว่างพระขนงมีพระอุณาโลมคั่นอยู่ พระนาสิกงุ้ม   พระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย
ที่มา  http://www.siamfreestyle.com

หมวดพระพุทธรูปต่าง ๆ สมัยสุโขทัย

หมวดพระพุทธรูปต่าง ๆ สมัยสุโขทัย
พระพุทธรูปสุโขทัยอาจแบ่งได้ เป็น 4 หมวดด้วยกันคือ หมวดใหญ่ หมวดกำแพงเพชร หมวดพระพุทธชินราช หมวดเบ็ดเตล็ด
          พระพุทธรูปทั้งสี่หมวด แบ่งออกเป็น 3 รุ่น ด้วยกัน คือ  รุ่นแรก มีวงพระพักตร์กลมแบบลังกา  รุ่นที่สอง มีวงพระพักตร์ยาว และพระหนุเสี้ยม รุ่นที่สาม น่าจะสร้างในรัชสมัยพระมหาธรรมราชา หรือ พระเจ้าลิไท พระองค์ทรงหาหลักฐานต่าง ๆ จากพระไตรปิฎก มาประกอบการสร้างพระพุทธรูป จึงได้เกิดพระพุทธรูปแบบสุโขทัยขึ้นอีกแบบหนึ่ง ได้แก่ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ วงพระพักตร์ รูปไข่คล้ายแบบอินเดีย ปลายนิ้วพระหัตถ์เสมอกันทั้ง 4 นิ้ว
          การแบ่งเช่นนี้สอดคล้องกับ Griswold ซึ่งได้แบ่งพระพุทธรูปทั้ง 4 หมวดออกเป็น 3 ยุค คือ ยุคก่อนยุคทอง เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ยุคทอง คือพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 – 22 และหลังยุคทอง (พรพรรณ จันทโรมานนท์, 2547 : 147)
          พระพุทธรูปแบบสุโขทัยมีอิทธิพลของศิลปะแบบลังกาเข้ามาปะปนอยู่มาก และจัดอยู่ในหมวดวัดตะกวนนั้นอาจเป็นพระพุทธรูปแบบสุโขทัยรุ่นแรกด้วย เมื่อกล่าวถึงพระพุทธรูปสุโขทัยที่มีอิทธิพลลังกาปน จะเห็นได้ชัดในพระพุทธสิหิงค์ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติพระนคร พระพุทธสิหิงค์นั้นตามตำนานกล่าวว่าได้มาจากเกาะลังกาในรัชกาลพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ หรือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19 แต่ลักษณะฝีมือช่างที่เห็นปรากฏอยู่เป็นศิลปะไทยปนลังกาจึงเป็นที่น่าสงสัยว่าโดยเหตุที่เคยไปประดิษฐานในเมืองต่าง ๆ หลายเมือง คือเมืองนครศรีธรรมราช สุโขทัย อยุธยา กำแพงเพชร เชียงราย และเชียงใหม่ จึงอาจถูกขัดแต่งจนกลายเป็นพระพุทธรูปแบบฝีมือไทยหรือองค์เดิมสูญหายไปเสีย จึงหล่อขึ้นแทนใหม่ในสมัยสุโขทัยนี้ก็เป็นได้ หรืออาจจะแต่งตำนานขึ้นเพื่อประกอบพระพุทธรูปให้ศักดิ์สิทธิ์โดยกล่าวว่ามาจากเกาะลังกาได้เช่นเดียวกัน (สุภัทรดิศ ดิศกุล, 2546 : 27)


หมวดใหญ่
          พระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่มีอยู่ทั่วไปเป็นลักษณะศิลปะสุโขทัยโดยเฉพาะ มีลักษณะคือ พระรัศมีเป็นเปลว ขมวดพระเกศาเล็ก พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม (ตามแบบลักษณะมหาบุรุษจากอินเดีย พระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มเฉียง ชาวจีวรยาวลงมาถึงพระนาภี ปลายเป็นเขี้ยวตะขาบ ชอบทำปางมาวิชัย ประทับ ขัดสมาธิราบ ฐานเป็นหน้ากระดานเกลี้ยง

หมวดกำแพงเพชร
          มีลักษณะโดยทั่วไปเหมือนในหมวดใหญ่  แต่มีลักษณะของวงพระพักตร์ตอนบนจะกว้างกว่าตอนล่างมากอย่างสังเกตเห็นได้ชัด พบที่จังหวัดกำแพงเพชร
                                                             
หมวดพุทธชินราช
          พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระองค์ค่อนข้างอวบอ้วน นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่มีปลายเสมอกัน มีลักษณะของมหาบุรุษ 32 ประการอยู่มาก หมวดนี้เชื่อกันว่าคงเริ่มสร้างครั้งแผ่นดินพระเจ้าลิไท ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20 หรือหลังกว่านั้น

หมวดเบ็ดเตล็ด
หมวดเบ็ดเตล็ดหรือหมวดวัดตะกวน หมวดนี้เป็นหมวดพระพุทธรูปแบบสุโขทัยที่มีศิลปะแบบเชียงแสนและลังกาเข้ามาปะปนอยู่มาก บางองค์มีลักษณะชายสังฆาฏิหรือจีวรสั้น พระนลาฏแคบ แต่พระองค์และฐานมักเป็นแบบสุโขทัย ที่เรียกว่าแบบวัดตะกวนนั้น เพราะได้พบพระพุทธรูปแบบสุโขทัยและแบบแปลก ๆ เหล่านี้ที่วัดตะกวนในเมืองสุโขทัยเป็นครั้งแรก พระพุทธรูปแบบนี้บางองค์อาจเป็นพระพุทธรูปรุ่นแรกของศิลปะแบบสุโขทัยก็เป็นได้ ทั้งนี้ถ้าเราเชื่อว่าศิลปะเชียงแสงรุ่นแรกเกิดขึ้นก่อนศิลปะสุโขทัย บรรดาพระพุทธรูปปูนปั้นที่ค้นพบ ณ เจดีย์ทางทิศตะวันออกและในพระปรางค์วัดพระพายหลวงเป็นวัดเก่าในสมัยสุโขทัยก็ดูจะเป็นลักษณะแบบนี้ทั้งสิ้น 

          อาณาจักรสุโขทัยสร้างขึ้นมาจากเส้นทางการค้าที่สำคัญ ทำให้ได้รับศิลปวัฒนธรรมจากหลายที่ ช่างสุโขทัยประติดประต่อเลือกรับปรับปรุงแล้วพัฒนาจนได้งานศิลปะที่มีความเฉพาะตัว อ่อนช้อย งดงาม สะท้อนสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในอาณาจักรได้อย่างดี จนปราชญ์หลายท่านกล่าวตรงกันว่า ศิลปะสุโขทัยคือศิลปะที่สวยงามที่สุดยุคหนึ่งของชนชาติไทย

ประติมากรรมสมัยสุโขทัย

                                                          ประติมากรรมสมัยสุโขทัย
                   หลักฐานทางด้านประติมากรรมก่อนสมัยสุโขทัย นอกจากพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบลพบุรี มีขนาดเล็ก หล่อด้วยสำริด จากวัดพระพายหลวงแล้ว ที่ศาลตาผาแดงได้พบประวัติมากรรมลอยตัว สลักจากหินทราย เป็นรูปเทวดา เทวนารี จำนวน 6 รูป มีทั้งขนาดเท่าคนและเล็กกว่า ทั้งหมดล้วนชำรุด เศียรและกรหักหาย ลวดลายสลักในส่วนของเครื่องประดับ เช่น กรองศอ เข็มขัด มีพู่ห้อย ตลอดจนการนุ่งผ้า ชักชายผ้ายาว เทียบได้กับศิลปะขอมแบบนครวัด โดยสืบต่อมาในศิลปะแบบบายนพระพุทธรูปแตกต่างจากพระพุทธรูปทรงเครื่องของฝ่ายมหายาน พระพุทธรูปในศิลปะสมัยสุโขทัยตามแบบแผนของชาวพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ถ่ายทอดผ่านรูปทรงอันเกิดจากสัดส่วน เส้นนอก และปริมาตรซึ่งประสานกลมกลืนกันอย่างเรียบง่าย

                 นักวิชาการได้แบ่งลักษณะของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยออกเป็น หมวดวัดตะกวนหมวดใหญ่ หมวดพระพุทธชินราช และหมวดกำแพงเพชร อนึ่งความเชื่อในศาสนาฮินดูมีอยู่ด้วยแต่เป็นส่วนน้อย ปะปนกับพุทธศาสนาได้ปรากฏอยู่ที่การสร้างเทวรูป เช่น พระนารายณ์  พระพรหม พระอิศวร ด้วยสุนทรีภาพไม่แตกต่างจากพระพุทธรูปช่วงของพัฒนาการ ราว พ.ศ. 2508  ภายในปราสาทแบบขอองค์กลางของวัดพระพายหลวง นักโบราณคดีได้พบพระพุทธรูปปั้นซึ่งเปื่อยยุ่ยจนรักษาไว้ไม่ได้ พระอุระของพระพุทธรูปองค์นี้บรรจุชิ้นส่วนของพระพุทธรูปปูนปั้น เจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรประกอบชิ้นส่วนดังกล่าว ได้เป็นพระพุทธรูปขนาดย่อมเพียงครึ่งท่อนบน ทรงครองจีวรเฉียงเปิดอังสาขวา บนพระอังสาซ้ายมีชายจีวรสั้นพาดอยู่ ชายจีวรหยักแยกสองแฉกคล้ายเขี้ยวตะขาบหักหลุดไปบางส่วน เม็ดพระศกค่อนข้างเล็ก อุษณีษะหรือกะโหลกเศียรที่โป่งนูน อันเป็นหนึ่งในลักษณะมหาบุรุษ รัศมีที่หักหายคงเป็นทรงดอกบัวตูม พระพักตร์กลม พระนลาฏค่อนข้างกว้าง แนวเม็ดพระศกหย่อนเล็กน้อยที่กลางพระนลาฏ พระขนงโก่ง หัวพระขนงไม่ชัดกัน พระเนตรหรี่ลงต่ำ พระนาสิกโด่ง แต่ค่อนข้างสั้น พระโอษฐ์อิ่ม พระหนุ(คาง) เป็นปมลักษณะดังกล่าวควรเป็นพระพุทธรูประยะแรกของศิลปะสุโขทัย ในครึ่งแรกของพระพุทธศตวรรษที่ 19 สอดคล้องกับกำหนดอายุจากหลักฐานการขุดแต่งอีกครั้งของกรมศิลปากร ระหว่าง พ.ศ. 2528 – 2529 ที่เจดีย์สี่เหลี่ยมซึ่งอยู่ทางด้านหน้าของวัดนี้ วัตถุปูนปั้นที่ได้พบจากการขุดแต่งในบริเวณเจดีย์สี่เหลี่ยมองค์นี้ ได้แก่ เศียรพระพุทธรูป หลายเศียรอยู่ในกลุ่มพระพักตร์กลมรวมทั้งเศียรพระสงฆ์สาวกและเทวดาที่ได้พบอยู่ด้วยกัน แสดงถึงงานสร้างระยะแรกเช่นกัน  ต่อมางานปูนปั้นเหล่านี้ถูกนำมารวมกันในการบูรณะคราวหนึ่งในสมัยสุโขทัยโดยเรียงรวมกันไว้อย่างเป็นระเบียบทางด้านตะวันออกของเจดีย์ก่อนที่จะก็เป็นฐานชุกชีครอบไว้   และสร้างพระพุทธรูปไว้บนฐานชุกชีนั้น  ปัจจุบันนั้นชำรุดไปหมดแล้ว ลักษณะของพระพุทธรูประยะแรกของสุโขทัย เรียกกันมาก่อนว่า หมวดวัดตระกวน เพราะได้พบที่คล้ายคลึงเป็นครั้งแรกที่วัดตะกวน สุโขทัย การเปรียบเทียบพระพุทธรูปแบบนี้กับพระพุทธรูปแบบเชียงแสนรุ่นแรกของแคว้นล้านนา รวมครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 19  พบว่ามีส่วนคล้ายคลึงกัน แหล่งบันดาลใจจากเมืองมอญ พม่า โดยเฉพาะในช่วงปลายสมัยพุกาม ย่อมเป็นต้นเค้าให้แก่แบบอย่างระยะแรกทั้งศิลปะของแคว้นล้านนาและสุโขทัย พระพุทธรูปแบบเชียงแสนรุ่นแรกของแคว้นล้านนาส่วนมากหล่อจากสำริด ขณะที่พระพุทธรูปรุ่นแรกของสุโขทัยเป็นงานปูนปั้น อาจใช้เป็นหลักฐานสนับสนุนความคิดที่ว่า งานหล่อสำริดของแคว้นล้านนาเจริญขึ้นก่อน เมื่อล่วงเข้าสู่ครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 19 งานหล่อสำริดในศิลปะสุโขทัย จึงเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการหล่อพระพุทธรูปสำริดจำนวนมาก คุณภาพของงานหล่อควบคู่กับความสมบูรณ์ทางรูปแบบศิลปะ ได้บรรลุถึงความงามอย่างอุดมคติของพระพุทธรูปหมวดใหญ่ในศิลปะสุโขทัย
 แต่ก่อนจะพัฒนามาเป็นลักษณะของพระพุทธรูปหมวดใหญ่ แนวโน้มการคลี่คลายเชื่อว่าปรากฏอยู่ในพระพุทธรูปที่เจดีย์วัดช้างล้อม ศรีสัชนาลัย บรรดาพระพุทธรูปปูนปั้นที่ชุดรุดของ เจดีย์องค์นี้ประดิษฐานอยู่ในจระนำห้าช่อง เรียงรายที่แต่ละด้านของฐานสี่เหลี่ยมเหนือลานประทักษิณ องค์ที่เหลือสมบูรณ์ที่สุดเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ รามคำแหง พระพุทธรูปเหล่านั้นประทับขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองแสดงปางมารวิชัย ทรงครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา ชายจีวรยาวพาดเหนือพระอังสาซ้าย โดยจีบทบเป็นริ้ว พระพักตร์คลี่คลายจากลักษณะกลมบ้างแล้ว เม็ดพระศกเล็ก พระนลาฏยังค่อนข้างกว้าง อุษณีษะนูน รัศมีหักหายไปแล้ว พระขนงวาดเป็นวงโค้งหัวพระขนงจรดกันโดยต่อเนื่องลงมาเป็นสันโด่งองพระนาสิก
                ชายจีวรหรือสังฆาฎิที่จีบทบกันเป็นริ้วเป็นแบบอย่างพิเศษ ปรากฏในช่วงเวลาสั้น ๆ โดยอาจมีต้นแบบจากพระพุทธรูปนาคปรก หล่อด้วยสำริด พบที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานีพระพุทธรูปองค์มีศักราชระบุว่าหล่อขึ้นใน พ.ศ. 1834 แบบอย่างพิเศษของชายจีวรได้พบที่พระพุทะรูปลีลาพระพักตร์รูปไข่ ปั้นด้วยปูนแบบนูนสูง  ที่วัดพระศรีมหาธาตุเชลียง จัดอยู่ในพระพุทธรูปหมวดใหญ่ สร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 พระพุทธรูปเดียวกัน หล่อจากสำริด จากวัดกอก น่าน พระพุทธรูปประทับนั่ง พระหัตถ์แสดงปางมารวิชัย  มีชายจีวรจีบทบเป็นริ้วเช่นกัน แสดงว่าชายจีวรเช่นนี้มีอยู่ทั่งที่พระพุทะรูปของวัดช้างล้อม และพระพุทธรูปหมวดใหญ่ด้วย

VDO